เดลี่เมล์ รายงานว่า นักธรณีวิทยาน้ำแข็งเก็บกู้อุปกรณ์ล่าสัตว์ที่ได้รับการรักษาไว้อย่างดีมากกว่า 2,000 ชิ้น บางชิ้นมีอายุเก่ากว่า 6,000 ปี หลังผืนน้ำแข็งละลายบนเทือกเขาโยทุนไฮเมน เทือกเขาที่สูงสุดในประเทศนอร์เวย์ 2,649 เมตร และรอบพื้นที่อ็อบลันด์ ซึ่งย้อนประวัติศาสตร์กลับไปได้ถึง 4,000 ปีก่อนคริสต์กาล
นักธรณีวิทยาเชื่อว่า สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น การเคลื่อนย้ายของประชากร รวมทั้งผ่านเทือกเขา และการค้าขายที่รุ่งเรืองในช่วงก่อนและระหว่างยุคไวกิ้ง ทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะมีชายแดนเชิงนิเวศวิทยาของเมืองที่ขยายออกมารอบๆ ยุโรปในเวลาดังกล่าว
นอกจากนี้ พบว่าชาวเมืองต้องการวัตถุดิบจากเทือกเขา เช่น เขากวางสำหรับประดิษฐ์เครื่องมือ รวมทั้งขนสัตว์ และยังมีความต้องการของการล่าสัตว์บนเทือกเขาที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
ดร.เจมส์ ฮ. บาร์เร็ตต์ นักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม สถาบันแมคโดนัลด์เพื่อการวิจัยธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และหัวหน้าวิจัยอาวุโส ระบุว่า รูปแบบหนึ่งที่ทำให้คณะวิจัยรู้สึกประหลาดใจคือการเพิ่มขึ้นในกิจกรรมในช่วงที่เรียกว่ายุคน้ำแข็งน้อยปลายสมัยโบราณ (Late Antique Little Ice Age) ในช่วงคริสต์ศักราช 536-660 ซึ่งเป็นช่วงแห่งความหนาวเย็น การเก็บเกี่ยวประสบความล้มเหลวและประชากรอาจลดลงด้วย
“น่าสังเกตว่าสิ่งที่ค้นพบจากน้ำแข็งอาจยังดำเนินต่อไปผ่านในยุคนี้ ซึ่งอาจมีความสำคัญของการล่าสัตว์บนเทือกเขา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกวางเรนเดียร์ เพิ่มขึ้นเพื่อเสริมทดแทนการเก็บผลผลิตเกษตรกรรมที่ล้มเหลวในยุคดังกล่าวที่มีอากาศเย็น”
ดร.บาร์เร็ตต์กล่าวว่า การลดลงของกิจกรรมในที่สูงในช่วงยุคน้ำแข็งน้อยปลายสมัยโบราณเกิดขึ้นสั้นมากจนไม่สามารถสังเกตได้จากหลักฐานที่มีอยู่ และสิ่งที่ค้นพบมีจำนวนลดลงตั้งแต่ศตวรรษที่ 11 เป็นต้นไป
ด้านนายลาร์ส พีเลอ ผู้อำนวยการร่วมโครงการสำรวจธรณีวิทยาน้ำแข็ง สภาเทศมณฑลอ็อบลันด์ และผู้นำการวิจัย กล่าวว่า ในยุคน้ำแข็งน้อย การล่ากวางเรนเดียร์โดยใช้คันธนูและลูกศรเป็นอาวุธถูกแทนที่ด้วยเทคนิคการล่าแบบในปริมาณมาก รวมทั้งระบบวางกับดักรูปทรงกรวยและหลุมพราง
“การล่าสัตว์อย่างเข้มข้นในรูปแบบดังกล่าวอาจทำให้จำนวนกวางเรนเดียร์ลดลง”
เมื่อโรคระบาดลุกลามในช่วงกลางศตวรรษที่ 14 การค้าขายและตลาดในภาคเหนือของนอร์เวย์ก็ได้รับผลกระทบ เมื่อตลาดและกวางเรนเดียร์เหลือน้อยลง กิจกรรมบนเทือกเขาสูงก็ลดลงอย่างมาก ซึ่งความตกต่ำในครั้งนี้อาจเกิดจากสภาพภูมิอากาศแย่ลงในช่วงยุคน้ำแข็งน้อย
ขอบคุณที่มา: คุยข่าวรอบโลก
ขอบคุณรูปภาพโดย: ข่าวสด,dailymail